Skip to main content

รมว.“พิพัฒน์” มอบ ผู้ช่วยฯ “สิรภพ” เปิดงานสัมมนาวิชาการด้านความปลอดภัย หวังอุบัติเหตุเป็นศูนย์ทุกสถานประกอบการ

รายละเอียดเนื้อหา

   “นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบผู้ช่วย รมว.สิรภพ เปิดงานสัมมนาวิชาการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในส่วนภูมิภาค จังหวัดราชบุรี ประจำปี 2567 พร้อมตั้งเป้าหมายในการลดอุบัติเหตุและโรคจากการทำงานอย่างยั่งยืน

  วันที่ 24 กรกฎาคม 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้ นายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนาวิชาการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในส่วนภูมิภาค จังหวัดราชบุรี ประจำปี 2567 โดยมีนายปิยพงศ์ ชูวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี กล่าวต้อนรับ นายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ ผู้อำนวยการ สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ในการจัดงาน หัวหน้าส่วนราชการกระทรวงแรงงานจังหวัดราชบุรี ร่วมให้การต้อนรับ ณ ห้องเวลาดี 1 โรงแรม ณ เวลา ราชบุรี อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี

  นายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานในพิธี เปิดเผยว่า งานสัมมนาวิชาการด้านความปลอดภัยและ อาชีวอนามัยในส่วนภูมิภาค จังหวัดราชบุรี จัดขึ้นโดยสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน หรือ สสปท. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักด้านความปลอดภัยให้กับคนทำงาน อุตสาหกรรมและสถานประกอบกิจการในพื้นที่ รวมทั้งยังมีการนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ๆ รวมถึงนวัตกรรมในการทำงานด้านความปลอดภัย ผ่านการจัดบูธนิทรรศการของหน่วยงานที่ทำงานด้านความปลอดภัย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา ซึ่งที่จังหวัดราชบุรีนี้ มีผู้ให้ความสนใจสมัครเข้ารับการอบรมจำนวน 230 คน ส่วนใหญ่จะเป็น จป.หรือเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย ที่มาจากสถานประกอบการเกือบทุกประเภทกิจการ

  นอกจากนี้ ภายในงานได้มีมอบมอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้กับสถานประกอบกิจการที่ผ่านเกณฑ์พิจารณากิจกรรมการรณรงค์ลดสถิติอุบัติเหตุจากการทำงานให้เป็นศูนย์ (Zero Accident Campaign 2024) ภาคตะวันตก จำนวน 29 รางวัล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า สำหรับรางวัลกิจกรรมการรณรงค์ลดสถิติอุบัติเหตุจากการทำงานให้เป็นศูนย์ (Zero Accident Campaign 2024) เป็นการเน้นย้ำสถานประกอบกิจการให้ความสำคัญกับมาตรการความปลอดภัย โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในองค์กร บนพื้นฐานแนวคิดที่ว่า ความปลอดภัยในการทำงานเป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้ อุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับการทำงานสามารถป้องกันได้ ผ่านการวางแผนและบริหารจัดการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล รวมถึงยุทธศาสตร์ด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของประเทศ ภายใต้โครงการความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของประเทศไทย (Safety Thailand) โดยตั้งเป้าหมายในการลดอุบัติเหตุและโรคจากการทำงานอย่างยั่งยืนเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ต่อปี

  “การให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในการทำงานไม่เพียงแต่ช่วยลดความเสี่ยงและความสูญเสีย แต่ยังเป็นการลงทุนในอนาคตที่ยั่งยืนและปลอดภัยสำหรับทุกคนในสถานประกอบกิจการ ดังนั้น สสปท.จึงตั้งเป้าหมายให้ลดอุบัติเหตุและโรคจากการทำงานอย่างยั่งยืนเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ต่อปี” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าว

  สำหรับงานสัมมนาวิชาการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในส่วนภูมิภาค นี้เป็นงานที่จัดขึ้นต่อเนื่องจาก “งานความปลอดภัยอาชีวอนามัยแห่งชาติ ครั้งที่ 36” ที่อิมแพคเมืองทองธานี โดยจะจัดขึ้นในทุกภูมิภาค ประกอบด้วย ภาคใต้จังหวัดสงขลา ภาคตะวันตกจังหวัดราชบุรีในครั้งนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจังหวัดนครราชสีมา ภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่ และภาคตะวันออกจังหวัดชลบุรี ส่วนการประกาศเกียรติคุณกิจกรรมการรณรงค์ลดสถิติอุบัติเหตุจากการทำงานให้เป็นศูนย์ (Zero Accident Campaign 2024) ที่จัดขึ้นโดย สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน สสปท. ในปี 2567 นี้ มีสถานประกอบกิจการเข้าร่วมจำนวน 4,000 กว่าแห่งจากทั่วประเทศ ได้ระดับแพลทินัมจำนวน 56 แห่ง ระดับทอง 120 แห่ง ระดับเงิน 256 แห่ง ระดับทองแดง 518 แห่ง และระดับต้น 763 แห่ง

TOP