วันที่ 20 กันยายน 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานฝ่ายรัฐบาล ร่วมพิธีบวงสรวง ถวายพานพุ่มสักการะ และกล่าวสดุดีรำลึกพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและความสำคัญของรัฐวิสาหกิจไทย เนื่องในโอกาสวันรัฐวิสาหกิจไทย ประจำปี 2565 เพื่อแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงสถาปนารัฐวิสาหกิจให้ดำเนินงานในกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน อำนวยประโยชน์สุขแก่ราษฎรจวบจนปัจจุบัน โดยมี นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุทธิ สุโกศล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ เข้าร่วมพิธีโดยพร้อมเพรียงกัน นายสราวุธ สราญวงศ์ รองเลขาธิการบริหารสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน ณ ลานพระราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 สำนักงานใหญ่การประปานครหลวง ถนนประชาชื่น เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร
นายสุชาติ กล่าวว่า เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เวียนมาบรรจบครบอีกวาระหนึ่ง ขอประกาศสดุดีรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “พระบิดาแห่งรัฐวิสาหกิจไทย” ด้วยความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ แด่องค์พระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐยิ่ง ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติยาวนานกว่า 42 ปี พระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ เป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติเป็นเอนกนานัปการ ทรงปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และใช้ระบบเขตการปกครองใหม่ ทรงโปรดให้มีการจัดการสุขาภิบาล การบำรุงท้องที่ การก่อตั้งการประปา การไฟฟ้า การไปรษณีย์โทรเลข โทรศัพท์ การสื่อสาร การรถไฟ ให้ดำเนินงานในกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และโปรดให้ตั้งกระทรวงสำคัญต่าง ๆ รวมถึงกิจการในด้านศาลยุติธรรม เป็นต้น การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงดังกล่าว นำประเทศชาติไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ เป็นการอำนวยประโยชน์สุขแก่ราษฎรจวบจนถึงปัจจุบัน
นายสุชาติ กล่าวต่อว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับรัฐวิสาหกิจโดยตลอดมา เนื่องจากรัฐวิสาหกิจเป็นกลไกของรัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศ รวมถึงเป็นผู้ให้บริการสาธารณะแก่ประชาชน จึงมีความสำคัญและจำเป็นต้องมีการปฏิรูปการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ ให้มีระบบธรรมาภิบาลที่ดี มีความโปร่งใส เหมาะสมกับบริบทของเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป อันจะนำไปสู่สภาพแวดล้อม ที่เอื้อต่อการจัดทำบริการสาธารณะที่มีคุณภาพให้แก่ประชาชน รวมทั้งสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
————————————————
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
20 กันยายน 2565