Skip to main content

รมว. สุชาติ นำทีมไทยแลนด์ลุยไซต์งานซาอุฯ เตรียมส่งออกแรงงาน

รายละเอียดเนื้อหา

         เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2565 เวลา 7.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยนายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) จ่าเอกยศสิงห์ เหลี่ยมเลิศ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรี นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน ได้เดินทางถึงประเทศซาอุดีอาราเบีย โดยมีนายอับดุลมายิด อัลราชูดีย์ รัฐมนตรีช่วยดูแลกิจการแรงงาน กระทรวงพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคม  พร้อมด้วยนายสธน เกษมสันต์ ณ อยุธยา อุปทูต ณ กรุงริยาด ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น ณ กรุงริยาด ประเทศ โดยนายสุชาติกล่าวว่า ในวันนี้ผมได้นำคณะผู้บริหารของกระทรวงแรงงานมายังกรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาราเบีย เพื่อเตรียมเข้าร่วมพิธีลงนามความตกลงด้านแรงงานในวันที่ 28 มีนาคน 2565 เวลา 12.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น

          จากนั้น นายสุชาติ และคณะ ยังได้ตรวจเยี่ยมและพบปะให้กำลังใจเจ้าหน้าที่สำนักงานแรงงาน
ไทย ณ กรุงริยาด รวมทั้งหารือข้อราชการกับนายสธน เกษมสันต์ ณ อยุธยา อุปทูต ณ กรุงริยาด โดยกล่าวว่า ขอขอบคุณท่านอุปทูต ที่ให้การดูแลอัครราชทูตที่ปรึกษาและเจ้าหน้าที่ของฝ่ายแรงงาน และให้คำแนะนำ สนับสนุน การปฏิบัติงาน ของฝ่ายแรงงานฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานของกระทรวงแรงงาน ที่ประจำการที่กรุงริยาดรวมถึงช่วยเหลือดูแลแรงงานไทยในซาอุดีอาระเบีย ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่เหมาะสม ได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย นอกจากนี้ ขอขอบคุณกระทรวงการต่างประเทศที่ช่วยผลักดันสนับสนุนให้การลงนามความตกลงด้านแรงงานในครั้งนี้ประสบความสำเร็จโดยเร็ว มุ่งหวังให้การจ้างแรงงานไทยเป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านแรงงานของทั้งสองประเทศ ทั้งนี้ ขอความร่วมมือทางการซาอุดีอาระเบียช่วยตรวจตราในการต่อต้านการค้ามนุษย์ ปกป้องคุ้มครองสิทธิของนายจ้างและแรงงาน รวมถึงการบังคับใช้กฎระเบียบ สัญญาจ้างงานระหว่างกันที่เป็นธรรม แรงงานได้รับค่าจ้าง สวัสดิการ และสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย

          สำหรับสถานการณ์ด้านแรงงาน ปัจจุบันมีแรงงานไทยที่ไปทำงานอยู่ในซาอุดีอาระเบีย จำนวน 1,334 คน แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานส่วนใหญ่เป็นการแจ้งการเดินทางด้วยตนเอง นายจ้างพาไปทำงาน และ Re – entry ซึ่งตำแหน่งงานที่แรงงานไทยเดินทางไปทำงาน เช่น ช่างเชื่อม ช่างเทคนิค ช่างเครื่องยนต์ ผู้ปฏิบัติงานในโรงงาน ผู้ควบคุมเครื่องจักร คนงานผลิตผลิตภัณฑ์ทั่วไป คนงานควบคุมเครื่องจักร ผู้ช่วยกุ๊ก แม่บ้าน เป็นต้น

          นายสุชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันเดียวกันนี้ผมยังได้พบปะหารือกับตัวแทนบริษัทรับเหมาก่อสร้าง เพื่อตรวจเยี่ยมสภาพการจ้างงานในสถานประกอบการไซด์งานก่อสร้างของซาอุดีอาระเบีย ณ ไซด์งานก่อสร้างบริษัท AL BAWANI -CP02 โดยได้พบปะพูดคุยกับผู้ประกอบการธุรกิจก่อสร้างในประเด็นความต้องการแรงงานในกิจการก่อสร้างของซาอุดีอาระเบีย สภาพเศรษฐกิจโดยรวม แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจก่อสร้างในอนาคต ตลอดจนแผนการลงทุนในโครงการก่อสร้างอื่น ๆ ที่วางแผนไว้ ตลอดจนมาตรการดูแลคุณภาพชีวิตและสวัสดิการของแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในซาอุดีอาระเบียนั้น จะมี E-Contract Program ซึ่งเป็นการทำสัญญาจ้างอิเล็กทรอนิกส์ มุ่งรักษาสิทธิของลูกจ้าง และลดความขัดแย้งระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง

          นอกจากนี้ยังมีข้อริเริ่ม Labor Mobility Initiative ให้แรงงานเคลื่อนย้ายได้อย่างอิสระ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น สร้างประสิทธิภาพ และความสามารถในการแข็งขันในตลาดแรงงาน รวมทั้งให้สอดรับกับความต้องการแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานภาคบริการ โรงแรม สุขภาพ และอุตสาหกรรมก่อสร้างในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของทางการซาอุดีอาระเบีย และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับจุดเด่นด้านฝีมือของแรงงานไทย โดยเฉพาะแรงงานที่มีฝีมือและกึ่งฝีมือ รวมทั้งความขยัน อดทนที่เป็นเอกลักษณ์ของแรงงานไทย ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อมูลถึงความพร้อมในการทดสอบฝีมือแรงงานและกระบวนการฝึกอบรมต่างๆ ให้แก่แรงงานไทยเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเดินทางมาทำงานในซาอุดีอาระเบียอีกด้วย

+++++++++++++++++++++++++

กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์

28 มีนาคม 2565

TOP