เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่จังหวัดกระบี่ เพื่อตรวจเยี่ยมกลุ่มอาชีพแรงงานนอกระบบ แรงงานผู้สูงอายุ และแรงงานกลุ่มเปราะบาง โดยมี นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พล.ต.ต.นันทชาติ ศุภมงคลประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดกระบี่ เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วยณ กลุ่มอาชีพชุมชนบ้านนาตีน ตั้งอยู่ที่ศูนย์กลางชุมชนบ้านนาตีน หมู่ 4 ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ โดย นางธิวัลรัตน์ กล่าวว่า ท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีนโยบายเปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวมาตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนเป็นต้นมา ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการจ้างงานในระดับพื้นที่ และได้สั่งการให้กระทรวงแรงงาน ดูแลกลุ่มวิสาหกิจชุมชนให้เข้มแข็งและยั่งยืน เพื่อให้กลุ่มอาชีพตั้งแต่ระดับรากหญ้าสามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่ผู้ประกอบการ SMEs ได้ในอนาคต โดยเฉพาะจังหวัดกระบี่เป็นเมืองท่องเที่ยวที่ในแต่ละปีสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวเป็นเม็ดเงินมหาศาลทางเศรษฐกิจ ท่านรัฐมนตรีสุชาติ ชมกลิ่น ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมการประกอบอาชีพที่ตรงตามความต้องการในพื้นที่ดังกล่าว จึงได้มอบหมายให้ดิฉันและคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมกลุ่มอาชีพแรงงานนอกระบบ แรงงานผู้สูงอายุ และแรงงานกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้ผู้ว่างงาน ผู้ถูกเลิกจ้าง ผู้ที่รอฤดูกาล ผู้ประสบภัยธรรมชาติ แรงงานนอกระบบ คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ และประชาชนทั่วไป ได้รับการส่งเสริมการประกอบอาชีพที่ตรงตามความต้องการ มีส่วนร่วมทางสังคม รวมทั้งได้รับการเสริมสร้างภาวะทางร่างกายจิตใจ ตระหนักถึงคุณค่าและศักยภาพของตนเองนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และได้มีการมอบวัสดุอุปกรณ์สนับสนุนการประกอบอาชีพให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม
สำหรับบ้านนาตีน เป็นชุมชนเล็ก ๆ แบบวิถีมุสลิมและเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ผสานเอกลักษณ์ของชุมชนที่โดดเด่น ในเรื่องของการทำผ้าบาติกมาประยุกต์เป็นของที่ระลึกเพื่อสร้างรายได้แก่ชุมชน ปัจจุบันชุมชนบ้านนาตีน อยู่ระหว่างการพัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการพัฒนาองค์กรและสภาพแวดล้อมในระดับหมู่บ้าน เพื่อผลักดันให้เป็นหมู่บ้านอนุรักษ์แหล่งท่องเที่ยวและการส่งเสริมด้านผลิตภัณฑ์ OTOP ที่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวเลือกชมซื้อสินค้าหัตถกรรมที่ผลิตจากคนในชุมชนเช่น ผ้าบาติก กระเป๋าปิ้กเป๊กแฮนด์เมดลายบาติกผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าว สำนักงานจัดหางานจังหวัดกระบี่ได้สนับสนุนและส่งเสริมโครงการเตรียมความพร้อมแก่กำลังแรงงานกิจกรรมเพิ่มอาชีพ เพิ่มรายได้ แก่กลุ่มแรงงานนอกระบบเมื่อวันที่ 30-31 สิงหาคม 2564 มีการอบรมและฝึกปฏิบัติหลักสูตร “การทำกระเป๋าปิ๊กเป๊กแฮนด์เมดลายบาติก” พร้อมมอบวัสดุหลังจากฝึกอบรม ซึ่งผู้ผ่านการอบรมสามารถประกอบอาชีพเพิ่มรายได้ 5,000 – 10,000 บาทต่อเดือน
+++++++++++++++++++
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
17 พฤศจิกายน 2564