รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ส่งที่ปรึกษา “ธิวัลรัตน์” เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างเครือข่ายเพื่อคุ้มครองแรงงานต่างด้าว รุ่นที่ 3 เสริมองค์ความรู้ภาคประชาสังคม เพิ่มทักษะด้านการสอดส่อง ดูแล เฝ้าระวัง และแจ้งเบาะแส หวังสร้างเครือข่ายด้านแรงงาน มุ่งคุ้มครองสิทธิแรงงานต่างด้าว
วันพฤหัสบดี ที่ 16 มิถุนายน 2565 เวลา 09.00 น. นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยหลังการเป็นประธานในพิธีเปิด“การประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างเครือข่ายเพื่อคุ้มครองแรงงานต่างด้าว รุ่นที่ 3”ว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน และ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญกับแรงงานต่างด้าวซึ่งเข้ามาทำงานในประเทศไทยและถือว่าแรงงานเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ จึงมีการกำหนดทิศทางการดำเนินงานเพื่อให้แรงงานต่างด้าว เครือข่ายแรงงานและประชาชนได้รับการคุ้มครอง ส่งเสริมและพัฒนารวมทั้งเข้าถึงบริการจากภาครัฐได้ ภายใต้วิสัยทัศน์“แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้รับความเป็นธรรมอย่างทั่วถึงและยั่งยืน” โดยได้มอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในฐานะหน่วยงานหลักในการคุ้มครองดูแลผู้ใช้แรงงานทุกเชื้อชาติมีการกำชับให้พนักงานตรวจแรงงานปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มงวดและเข้มแข็งเพื่อให้ลูกจ้างทุกคนที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานและเพื่อให้การตรวจคุ้มครองแรงงานเป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงต้องมีการสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาคประชาสังคม และอาสาสมัครแรงงานต่างด้าว ซึ่งจะเป็นกำลังเสริมที่สำคัญในการสอดส่อง ดูแล แจ้งเบาะแสการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายนำไปสู่การป้องกันปัญหาการละเมิดสิทธิด้านแรงงานหรือปัญหาด้านแรงงานด้วย
นางสาวกาญจนา พูลแก้ว รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 กรมฯ ได้กำหนดจัดประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างเครือข่ายเพื่อคุ้มครองแรงงานต่างด้าวทั้งหมด 6 รุ่น รุ่นละ 50 คน โดยได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว 2 รุ่นสำหรับในวันนี้จัดขึ้นเป็นรุ่นที่ 3 ณ โรงแรมไอธารา รีสอร์ท แอนด์ สปา อำเภอบ้านแหลมจังหวัดเพชรบุรี มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 50 คน ประกอบด้วย ผู้แทนสถานประกอบกิจการ เจ้าหน้าที่บุคคล ผู้ประสานงานด้านภาษา(ล่าม) แรงงานสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา โดยกรมฯ มุ่งหวังว่า ผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับความรู้ ความเข้าใจในข้อกฎหมาย สิทธิ หน้าที่สวัสดิการและช่องทางการใช้สิทธิด้านแรงงานอย่างถูกต้อง นำไปสู่การเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งสามารถปฏิบัติหน้าที่เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่แรงงานและประสานงานกับภาครัฐอย่างยั่งยืน
+++++++++++++++++++
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
16 มิถุนายน 2565