วันที่ 29 ตุลาคม 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย พร้อมด้วย นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นายสมาสภ์ ปัทมะสุคนธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน และคณะ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 12 (The 12th ALMM+3) โดยมี นายตุลย์ ไตรโสรัส เอกอัครราชทูต ณ กรุงมะนิลา เข้าร่วมประชุมด้วย เพื่อรับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานด้านแรงงานและส่งเสริมความร่วมมือด้านแรงงานของประเทศอาเซียนบวกสาม ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี โดยที่ประชุมได้หยิบยกประเด็นความร่วมมือเพื่อพลิกโฉมโลกแห่งการทำงานในประชาคมอาเซียนสู่การเติบโตและฟื้นฟูด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน
นายสุเทพ กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าในช่วงระยะ 3 ปีที่ผ่านมา ประชาคมโลกต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวเป็นตัวเร่งให้วิถีการดำรงชีวิตและวิถีการทำงานเปลี่ยนแปลงไปอย่างก้าวกระโดด เทคโนโลยีดิจิทัลจึงเข้ามามีบทบาทในการดำรงชีวิตและการทำงานอย่างรวดเร็ว รัฐบาลไทยภายใต้การนำของท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน และท่านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จึงได้มีนโยบายเร่งพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้มีความรู้ด้านดิจิทัล พร้อมทั้งปรับรูปแบบการฝึกอบรมให้สอดคล้องกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้เข้ารับการฝึกอบรม โดยการเพิ่มช่องทาง การเข้าถึงการฝึกอบรมในรูปแบบออนไลน์ เพื่อตอบโจทย์ให้แรงงานที่ต้องการพัฒนาตนเองสามารถเข้าถึงการฝึกอบรมได้ทุกที่ ทุกเวลา ตามที่ต้องการ นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานยังเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในด้านการเทคนิคอาชีวศึกษาและการฝึกอบรม (TVET) และได้ร่วมดำเนินงานในประเด็นดังกล่าวภายใต้ความร่วมมือของสภาการเทคนิคอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมแห่งอาเซียนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อผลักดันให้ระบบการเทคนิคอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมของภูมิภาคมีความเข้มแข็ง และเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในการฟื้นฟูและพัฒนาภูมิภาคต่อไปด้วย
นายสุเทพ กล่าวต่อว่า การประชุมในครั้งนี้กระทรวงแรงงานได้เห็นชอบในหลักการต่อร่างแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 12 ซึ่งสะท้อนถึงลำดับความสำคัญและความร่วมมืออย่างต่อเนื่องระหว่างอาเซียนกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งกระทรวงแรงงานจะได้เสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยกระทรวงแรงงานพร้อมร่วมดำเนินงานด้านแรงงานและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียนกับทุกภาคส่วน เพื่อเป็นส่วนช่วยให้การดำเนินงานของภูมิภาคประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และเป็นภูมิภาคที่เติบโตรุ่งเรืองไปด้วยกัน
“ผลจากการประชุมในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการยกระดับทักษะฝีมือแรงงานในประเทศไทยให้มีทักษะด้านดิจิทัล รองรับงานในรูปแบบใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ เพื่อให้แรงงานสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลได้ ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต ทั้งยังเป็นการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้แรงงานมีทักษะ มีอาชีพ มีงานทำ มีรายได้ที่มั่นคงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป ”นายสุเทพ กล่าวท้ายสุด
+++++++++
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
29 ตุลาคม 2565