Skip to main content

รมว.สุชาติ ส่ง เลขาฯ ร่วมประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียนกระชับความร่วมมือ มุ่งคุ้มครองดูแลสิทธิแรงงานอย่างเท่าเทียม

รายละเอียดเนื้อหา

          วันที่ 28 ตุลาคม 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย พร้อมด้วย นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นายสมาสภ์ ปัทมะสุคนธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน และคณะ โดยมี นายตุลย์ ไตรโสรัส เอกอัครราชทูต ณ กรุงมะนิลา ให้การต้อนรับ ในโอกาสการประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียน ครั้งที่ 27 (The 27th ASEAN Labour Ministers’ Meeting : ALMM) ระหว่างวันที่ 27 – 29 ตุลาคม 2565 ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์

          นายสุเทพ กล่าวว่า สำหรับสาระสำคัญของการประชุมดังกล่าวเป็นเวทีการประชุมระดับผู้นำ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านแรงงานของประเทศสมาชิกอาเซียน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานตามกรอบแผนงานรัฐมนตรีแรงงานอาเซียน ซึ่งในปีนี้ที่ประชุมได้รายงานผลการดำเนินงานและความคืบหน้าประเด็นที่เกี่ยวข้องของประเทศสมาชิก อาทิ การเชื่อมโยงสิทธิประกันสังคมสำหรับแรงงานข้ามชาติในภูมิภาคอาเซียน การส่งเสริมแรงงานในอาเซียนให้มีความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับโลกที่เปลี่ยนไปของงาน อนาคตของงานและการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการเติบโตอย่างทั่วถึงและยั่งยืน การส่งเสริมงานสีเขียว การคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงงานต่างด้าว การส่งเสริมความปลอดภัยและอาชีวอนามัย การจ้างงานนอกระบบไปสู่การจ้างงานในระบบ เป็นต้น

          นายสุเทพ กล่าวต่อว่า ในนามรัฐบาลไทยผมขอขอบคุณและแสดงความยินดีกับฟิลิปปินส์สำหรับความความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบเชิงลบและความไม่แน่นอนต่อระบบเศรษฐกิจ การจ้างงาน ตลาดแรงงาน การเคลื่อนย้ายแรงงาน ตลอดจนคุณภาพชีวิตของแรงงานไทยและแรงงานต่างชาติ ในช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาดใหญ่ รัฐบาลไทยภายใต้การนำของท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้มีนโยบายเพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยการกำหนดมาตรการทางสาธารณสุขที่หลากหลายเพื่อบรรเทาการการสูญเสียด้านสุขภาพ และท่านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มีนโยบายดูแลแรงงานที่เข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพื่อให้แรงงานที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยทุกคนได้รับความคุ้มครองและการประกันสังคมที่เท่าเทียมกันโดยเฉพาะมาตรการและสิทธิประโยชน์แก่แรงงานในช่วงสถานการณ์โควิด-19  เช่น การดูแลแรงงานให้เข้าถึงการรักษาและบริการทางการแพทย์และสถานพยาบาลโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกในการกักกันตัวให้กับแรงงานที่ได้รับเชื้อโควิด-19 มีการดำเนินการโครงการ Factory Sandbox มีวัตถุประสงค์เพื่อคัดกรองตรวจโควิด ฉีดวัคซีน และแยกกักตัวแรงงานที่ติดเชื้อโควิด เพื่อให้ภาคธุรกิจยังคงสามารถดำเนินการต่อไปได้ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด ประกาศแนวทางการเฝ้าระวังและป้องกันโควิด-19 จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเลิกจ้างงาน ให้การคุ้มครองด้านประกันสังคมผ่านมาตรการประกันสังคมและอื่น ๆ อีกด้วย

          “การประชุม ALMM ระดับรัฐมนตรีในครั้งนี้ เป็นการประชุมเพื่อรับทราบการดำเนินงานของ SLOM รวมถึงให้การรับรองเอกสารผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมของประเทศสมาชิกร่วมกัน ผมในนามหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศไทย ขอยืนยันความมุ่งมั่นที่จะให้การคุ้มครองทางสังคมและสิทธิและให้เกิดความมั่นใจได้ว่ามีการทำงานที่มีคุณค่าสำหรับแรงงานทุกคน สอดคล้องกับนโยบายของท่านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ให้แรงงานไทยและแรงงานต่างชาติได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ” นายสุเทพ กล่าวท้ายสุด

 

++++++++++++++++++

 

กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์

28 ตุลาคม 2565

TOP