Skip to main content

รมว.สุชาติ เปิดมหกรรมบ้านและคอนโด กระตุ้นธุรกิจภาคอสังหาฯ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

รายละเอียดเนื้อหา

          วันที่ 27 ตุลาคม 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 42 โดยมี  ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย ณ ฮอลล์ 5 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ถนนรัชดาภิเษก เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร

          นายสุชาติ กล่าวว่า เป็นที่ทราบว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สามสมาคมหลักของวงการอสังหาริมทรัพย์ของประเทศ ได้แก่ สมาคมอาคารชุดไทย สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย และสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เป็นกำลังสำคัญของภาคเอกชนที่มีส่วนร่วมในการรวมพลังขับเคลื่อนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ให้มีการขยายตัวเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนงานมหกรรมบ้านและคอนโด เป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญ ไม่ใช่เฉพาะแต่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่ยังมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และบ้านยังถือเป็นปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิต นับเป็นงานแสดงสินค้าที่อยู่อาศัยใหญ่ที่สุด โดยมีผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ทั้งรายใหญ่ รายกลาง รายเล็ก พร้อมกันนำสินค้าหลากหลายโครงการมาร่วมจัดแสดงภายในงานนี้ ทำให้ผู้บริโภคและประชาชนทั่วไป ได้มีโอกาสเลือกซื้อที่อยู่อาศัยถือเป็นดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง

          นายสุชาติ กล่าวต่อว่า ในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด -19 กระทรวงแรงงานได้มีนโยบายและมาตรการช่วยเหลือพี่น้องลูกจ้าง ผู้ประกอบการ ในหลาย ๆ เรื่อง ดังนี้ ปี 2564 เปิดจุดตรวจโควิดแบบประจำจุดและตรวจเชิงรุกในโรงงาน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกจ้างเพื่อให้ภาคเอกชนยังคงดำเนินธุรกิจต่อไป มีผลตรวจโควิด 409,972 คน แรงงานไม่ได้รับการฉีดวัคซีน จึงขอรับการสนับสนุนวัคซีนให้แก่ผู้ใช้แรงงานกว่า 11 ล้านคน และได้ฉีดวัคซีนให้แรงงานแล้ว 3,962,206 โดส โรงงานปิดตัวลงจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ในโรงงาน กระทรวงแรงงานจัดโครงการแฟคทอรี่ แซนบ๊อก บนฐานแนวคิดเศรษฐศาสตร์ควบคู่สาธารณสุข มุ่งเป้าภาคการผลิตส่งออกสำคัญ ได้แก่ ยานยนต์ อาหาร ชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ใน 12 จังหวัด 730 โรงงาน มีแรงงานเข้าร่วม 407,770 คน ตรวจ RT- PCR พบผู้ติดเชื้อ 11,298 คน โดยทั้งหมดได้เข้าสู่กระบวนการรักษา และได้ฉีดวัคซีนให้ทุกคน ผลสัมฤทธิ์จากโครงการทำให้โรงงานไม่มีการปิดตัวลง ภาคการผลิตส่งออกสูงสุดในรอบ 30 ปี  การให้ความช่วยเหลือ SMEs เพื่อรักษาการจ้างงานให้ยังคงอยู่ โดยรัฐบาลอุดหนุนจำนวน 235,933 แห่ง ส่งเสริมการจ้างงานใหม่ของนายจ้าง 66,201 แห่ง ลูกจ้างได้รับการจ้างงาน มากกว่า 3.2 ล้านคน รวมเงินอุดหนุน มากกว่า 27 ล้านบาท เยียวยาผู้ประกันตน ลดเงินสมทบมาตรา 33 มาตรา 39 และ 40 เป็นเงิน 146,448 ล้านบาท เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน เป็นเงิน 73,899.09 ล้านบาท กรณีสุดวิสัย 2.58 ล้านราย เป็นเงิน 19,930.93 ล้านบาท เยียวยาแคมป์คนงาน 81,136 ราย เป็นเงิน 412.65 ล้านบาท กรณีเลิกจ้าง ลาออก สิ้นสุดสัญญา 2.55 ล้านราย เป็นเงิน 53,555.51 ล้านบาท เยียวยานายจ้างและผู้ประกันตน มาตรา 39 จำนวน 1.37 ล้านราย และมาตรา 40 จำนวน 7.21 ล้านราย เป็นเงิน 71,214.63 ล้านบาท เยียวยาผู้ประกันตนในกิจการสถานบันเทิงและผู้ประกอบอาชีพอิสระ ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาทต่อราย จำนวน 147,720 ราย เป็นเงิน 738.60 ล้านบาท ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว ตามมติ ครม.รวม 4 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 2,414,933 ราย ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคสูงขึ้นให้พี่น้องแรงงานสามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งประกาศใช้แล้วเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565

          “ผมขอขอบคุณและชื่นชมสมาคมอาคารชุดไทย สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย และสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ที่ได้ร่วมกันฝ่าฟันวิกฤตจนได้เกิดงานที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งการจัดงานในวันนี้ถือเป็นพลังสำคัญในการสร้างสรรค์พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไปด้วย”นายสุชาติ กล่าวท้ายสุด

++++++++++++++++++++++++++++

กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์

27 ตุลาคม 2565

TOP