เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ร่วมคณะของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลงพื้นที่ติดตามงานพัฒนาพื้นที่ความก้าวหน้าการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมผ่าน “โครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” การบริหารจัดการด้านความมั่นคงและชายแดน ปฏิบัติการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน รวมทั้งการประชุมบูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ณ อาคารศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา โดยมี นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นายประทีปทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมด้วย นายภิรมย์ นิลทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวต้อนรับ โดย นายสุชาติ กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีนโยบายให้กระทรวงแรงงานบูรณาการช่วยเหลือและพัฒนาแรงงานไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งการส่งเสริมดูแลกลุ่มวิสาหกิจชุมชนให้สามารถต่อยอดการประกอบอาชีพไปสู่ผู้ประกอบการ SMEs ได้ในอนาคต โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบ แรงงานผู้สูงอายุ แรงงานคนพิการ รวมทั้งกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้มีอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง ซึ่งจังหวัดยะลา เป็นเมืองท่องเที่ยวยั่งยืนคุณภาพชีวิตมั่นคง เกษตรมั่งคั่ง
ทั้งนี้ ก่อนการประชุมมีแกนนำอาสาสมัครแรงงาน (อสร.) ระดับตำบล และบัณฑิตแรงงานจังหวัดยะลา ซึ่งทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร งาน และภารกิจของกระทรวงแรงงานแก่ประชาชนในพื้นที่ มาร่วมให้การต้อนรับ โดยนายกรัฐมนตรีได้พบปะให้กำลังใจ และชื่นชม ที่ช่วยเหลือภารกิจกระทรวงแรงงานและประชาชนในพื้นที่ จากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้นำ นายกรัฐมนตรี เข้าเยี่ยมชมบูธกิจกรรมของกระทรวงแรงงานจังหวัดยะลา ที่ได้นำผลิตภัณฑ์จากกลุ่มที่ประสบความสำเร็จจากการส่งเสริมการฝึกอาชีพมาจัดแสดง ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์การตัดเย็บกระเป๋าผ้าจากผ้าปาเต๊ะ กลุ่มผลิตภัณฑ์จากลูกหยี กลุ่มผลิตภัณฑ์กริชรามันห์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนโรตีกรอบและโรตีแช่เย็น กลุ่มส่งเสริมอาชีพชุมชนตลาดเกษตรเป็นต้น
นางสาวสาปีระห์ สะตี ประธานกลุ่มตัดเย็บกระเป๋าผ้าจากผ้าปาเต๊ะ ต.หน้าถ้ำ อ.เมืองยะลา กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานแรงงานจังหวัดยะลา และสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน24 ยะลา ได้ให้การฝึกอบรมการทำกระเป๋าผ้าจากผ้าปาเต๊ะ ชาวบ้านใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ทำให้ครอบครัวมีรายได้เฉลี่ยคนละ 3,000 – 4,000 บาทต่อเดือน ปัจจุบันมีสมาชิก15 คน มีผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดผ่านช่องทางจำหน่ายสินค้าออนไลน์ ได้แก่ กระเป๋าใส่เหรียญกระเป๋าใส่ดินสอ ใส่เครื่องสำอาง เป็นต้น
นางเบกำยาน ปาทาน ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มส่งเสริมอาชีพชุมชนตลาดเกษตร ต.สะเตง อ.เมืองยะลา กล่าวว่า กลุ่มเริ่มตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2547 จากสมาชิก 20 คน กระทรวงแรงงานโดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 24 ยะลา ได้เข้ามาส่งเสริมด้านผลิตผลและผลิตภาพของสินค้ามาช่วยพัฒนาให้สินค้ามีมาตรฐาน โดยเฉพาะโรตีกรอบ โรตีแช่เย็น ซึ่งสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิต สร้างความคุ้มค่าของสินค้าให้อยู่ได้นานขึ้น ส่วนสำนักงานแรงงานจังหวัดยะลา ได้เข้ามาช่วยด้านการตลาด การออกบูธ ทำให้สินค้ามีช่องทางการจำหน่ายเพิ่มมากขึ้น ทำให้สมาชิกมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 2,000 – 3,000 บาท ในวันนี้จึงขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่ท่านนำนโยบายดีๆ มาสนับสนุนกลุ่มอาชีพ ให้โอกาสกลุ่มรากหญ้าอย่างพวกเราได้มีอาชีพ มีรายได้ ที่ยั่งยืน
สำหรับสถานการณ์ด้านแรงงานจังหวัดยะลา มีผู้อยู่ในกำลังแรงงาน 226,996 คน ผู้มีงานทำ223,485 คน ผู้ว่างงาน 3,414 มีสถานประกอบการในระบบประกันสังคม 1,564 แห่ง ผู้ประกันตน 235,544 คน มีแรงงานต่างด้าว 4,208 คน มีอาสาสมัครแรงงาน 58 คน บัณฑิตแรงงาน 76 คน
+++++++++++++++++++
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
15 ธันวาคม 2564