Skip to main content

รมว.เฮ้ง จัดใหญ่ Up Skill แรงงานแข่งขันทักษะหุ่นยนต์หนุนศักยภาพ EEC

รายละเอียดเนื้อหา

.แรงงาน เปิดห้องฝึกอบรมโชว์เทคโนโลยี พร้อมจัดประชันทักษะฝีมือด้านหุ่นยนต์สมองกลเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันของประเทศและ EEC

          วันที่ 23 ธันวาคม 2564 เวลา 14.00 . นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานพิธีรับมอบห้องฝึกอบรม CiRA CORE และพิธีเปิดการแข่งขันทักษะฝีมือแรงงานสาขาระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ครั้งที่ 2 “MARA Skill Competition 2021” สถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 ชลบุรีโดยมี นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุทธิ สุโกศล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงานเข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย โดย นายสุชาติ กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีนโยบายดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตอบโจทย์การเติบโตของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC ทั้งนี้สถานประกอบกิจการในเขต EEC หลายแห่งเริ่มใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในการผลิตมากขึ้น กระทรวงแรงงานโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานจึงใช้แนวทางประชารัฐร่วมกับภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา พัฒนาทักษะแรงงานทั้ง Up skill และ Re skill โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานใหม่และนักศึกอาชีวะให้เป็นแรงงานคุณภาพรองรับเทคโนโลยีอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
          นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า การแข่งขันดังกล่าวจัดขึ้นภายใต้นโยบายดังกล่าว จัดโดยหน่วยงานสังกัดกพร. สถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (MARA) ระหว่างวันที่ 23-24 ธันวาคม 2564 แข่งขัน 6 สาขา แบ่งเป็น 3 สาขาแข่งขันแบบทีมๆ ละ 2 คน ได้แก่ สาขาเมคคาทรอนิกส์ สาขาพีแอลซี สาขาซ่อมบำรุงหุ่นยนต์ และแบบบุคคล 3 สาขา ได้แก่ สาขาหุ่นยนต์ สาขาเขียนแบบเครื่องกลด้วยคอมพิวเตอร์ (CAD) สาขาปัญญาประดิษฐ์ ซีลาร์ คอร์ (CiRA CORE) ผู้เข้าแข่งขันเป็นนักศึกษาอยู่ในวิทยาลัยอาชีวศึกษาเขต EEC อาทิ วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก อี.เทค วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี วิทยาลัยเทคนิคระยอง วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา วิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซีเป็นต้น  ซึ่งผู้เข้าแข่งขันที่ชนะเลิศของแต่ละสาขาจะได้รับรางวัล ดังนี้  อันดับที่ 1 จะได้รับเงินรางวัล 5,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน อันดับที่ 2 รับเงินรางวัล 3,000 บาท อันดับ 3 รับเงินรางวัล 2,000 บาท การแข่งขันทักษะฝีมือแรงงานในครั้งนี้เป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเตรียมความพร้อมของแรงงานใหม่และส่งเสริมให้นักศึกษาอาชีวะสามารถนำความรู้ความสามารถมาประยุกต์เข้ากับเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และตอบสนองความต้องการกำลังแรงงานในพื้นที่ได้อย่างแท้จริงและไฮไลต์อีกงาน คือการรับมอบห้องฝึกอบรม CiRA CORE ซึ่งเป็นตามนโยบายของรัฐบาลตามแนวทางประชารัฐที่เสริมความเข้มแข็งให้กับศักยภาพของ EEC ได้อย่างชัดเจน โดยห้องนี้ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท TKK Corporation CO.,LTD. และ CiRA Automation and Technology CO.,LTD. มอบอุปกรณ์การฝึกอบรม เช่น หุ่นยนต์ Nachi และมือจับ ชุดลำเลียงอัตโนมัติ ตู้ไฟฟ้าชุดคอนโทรล สามารถจัดฝึกอบรมหลักสูตรปัญญาประดิษฐ์เพื่องานหุ่นยนต์อุตสาหกรรม การประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อการผลิต (AI) การโค้ดดิ้งร่วมกับไมโครคอนโทรลเลอร์สำหรับการพัฒนาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เป็นต้น ทั้งสองกิจกรรมในครั้งนี้เกิดขึ้นโดยความร่วมมือทั้งจากสถาบันการศึกษาและภาคเอกชน ทำให้เกิดการพัฒนาทักษะของกำลังแรงงานได้ทันเวลา เติมเต็มในส่วนที่เป็นข้อจำกัดของภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพส่งเสริมให้มีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและ EEC ด้วยแรงงานคุณภาพสอดคล้องกับเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
         ทั้งนี้ ในปี 2564 กรมพัฒนาฝีมือแรงงานโดยสถาบัน MARA ซึ่งเป็นหน่วยฝึกอบรมที่จัดตั้งขึ้นตามภารกิจพิเศษ ในการพัฒนากำลังแรงงานในสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในพื้นที่ EEC ได้ดำเนินการฝึกอบรม Up Skill และ Re skill โดยใช้รูปแบบการฝึกแบบมีส่วนร่วมจากภาคเอกชน เรียกว่า “EEC Model Type B” ควบคู่ไปกับการฝึกอบรมตามแผนงานโครงการพัฒนาศักยภาพกำลังแรงงานปกติของสถาบัน MARA และโครงการพิเศษของรัฐบาลทั้งงบประมาณจากโครงการเศรษฐกิจฐานรากและงบกลางของรัฐบาล โดยหลักสูตรที่ฝึกอบรมเช่น การประยุกต์ใช้ PLC ในงานอุตสาหกรรม การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการออกแบบและการผลิต (เครื่องกลึง) การใช้โปรแกรม Solid works for CAD การใช้โปรแกรม NX for CAD เทคโนโลยีการเชื่อมด้วยหุ่นยนต์ การเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์อุตสาหกรรมขั้นสูงคูก้าเป็นต้น ซึ่งสามารถพัฒนากำลังแรงงานได้กว่า 2,000 คน โดยในปี 2565 มีการเตรียมหลักสูตรใหม่อีกกว่า 30 หลักสูตรด้านเทคโนโลยีอัตโนมัติ หุ่นยนต์ โปรแกรมการผลิตเครื่องจักรกลการผลิตและเครื่องมือวัด และระบบโลจิสติกส์ ซึ่งคาดว่าจะสามารถพัฒนากำลังแรงงานได้ไม่ต่ำกว่า 2,000 คนเช่นกัน

+++++++++++++++++++

กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
23 ธันวาคม 2564

TOP