Skip to main content

รมว.เฮ้ง ส่ง‘เลขารัฐมนตรี’เปิดสัมมนาวิชาการฯ สร้างวัฒนธรรมไทยสู่ความปลอดภัยที่ยั่งยืนภาคตะวันออก

รายละเอียดเนื้อหา

          วันที่ 8 สิงหาคม 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานกล่าวเปิดงานสัมมนาวิชาการความปลอดภัยและอาชีวอนามัยภาคตะวันออกจังหวัดชลบุรี ประจำปี 2565 “Forward Culture of Prevention for Safety Thailand”ร่วมสร้างวัฒนธรรมไทยเชิงป้องกัน สู่ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และความผาสุกที่ยั่งยืนและมอบโล่ประกาศเกียรติคุณสถานประกอบกิจการที่ผ่านเกณฑ์พิจารณากิจกรรมการรณรงค์ลดสถิติอุบัติเหตุจากการทำงานให้เป็นศูนย์ประจำปี 2565 (Zero Accident Campaign 2022)  ระดับทอง ปีที่ 1 ภาคตะวันออก จำนวน 12 รางวัล โดยมี นายนิติ วิวัฒน์วานิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวต้อนรับ นายสุทธิ สุโกศล จ่าเอกยศสิงห์ เหลี่ยมเลิศ ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย นายวรานนท์ ปีติวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน ห้องบอลรูม โรงแรมนิกโก้ อมตะซิตี้ ชลบุรี จังหวัดชลบุรี
         
นายสุเทพ กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของท่าน พล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และท่าน พล..ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งท่านกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างสังคมไทยให้เป็นวัฒนธรรมเชิงป้องกัน สู่ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และความผาสุกที่ยั่งยืน รวมทั้งการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ Thailand 4.0 ที่จะพัฒนาไปสู่การเป็นแรงงาน 4.0”โดยการสร้างระบบการเรียนรู้ พัฒนาคุณภาพแรงงานให้มีความตระหนักรู้นำไปสู่การยกระดับองค์ความรู้ที่สำคัญในการทำงานที่มีประสิทธิภาพ และร่วมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยที่ยั่งยืน ในวันนี้ท่านสุชาติชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงได้มอบหมายให้ผมมาเป็นประธานกล่าวเปิดงานสัมมนาวิชาการความปลอดภัยและอาชีวอนามัยภาคตะวันออกจังหวัดชลบุรี ประจำปี 2565 ซึ่งการจัดงานดังกล่าวสอดคล้องกับแนวคิดการสร้างค่านิยมความปลอดภัยในการทำงาน 3 ประการ ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรี พล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กล่าวไว้ในพิธีเปิดงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติ ครั้งที่ 34 คือ การมีสติรู้ตัว วินัยถูกต้อง เอื้ออาทรใส่ใจ และส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องนำค่านิยมนี้ไปปรับใช้ เพื่อช่วยให้แรงงานมีความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยที่ดี
         
สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเน้นขับเคลื่อน ให้ลูกจ้าง นายจ้าง ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อลดปัญหาความรุนแรงและความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากความไม่ปลอดภัยในการทำงาน โดยเฉพาะสภาพการทำงานในวิถีชีวิตใหม่ ตลอดจนร่วมกันสร้างเครือข่ายวัฒนธรรมไทยเชิงป้องกัน สู่ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และความผาสุกที่ยั่งยืนต่อไป

+++++++++++++++++++

กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
8 สิงหาคม 2565

TOP