Skip to main content

รมว.เฮ้ง ส่ง ‘โฆษก’ ลงสงขลาเยี่ยมกลุ่มรับงานไปทำที่บ้าน ช่วยชาวบ้านมีอาชีพ เพิ่มรายได้

รายละเอียดเนื้อหา

          วันที่ 30 สิงหาคม 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) ลงพื้นที่จังหวัดสงขลา ตรวจเยี่ยมพบปะให้กำลังใจกลุ่มรับงานไปทำที่บ้าน “จักสานเชือกมัดฟางบ้านพรุ” โดยมี นายศักดิ์รวี ชีวะเสรีชล รองนายกเทศมนตรีเมืองบ้านพรุ พร้อมด้วยหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน และสมาชิกกลุ่มรับงานไปทำที่บ้านร่วมให้การต้อนรับ ณ กลุ่มรับงานไปทำที่บ้าน “จักสานเชือกมัดฟางบ้านพรุ” ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 29/1 ถ.ชุมแสง 4 ต.บ้านพรุ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

          นางเธียรรัตน์ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่เยี่ยมพบปะให้กำลังใจแก่สมาชิกกลุ่มรับงานไปทำที่บ้าน “จักสานเชือกมัดฟางบ้านพรุ”ในวันนี้ พบว่า กลุ่มนี้ได้รับการส่งเสริมการมีงานทำและการประกอบอาชีพโดยสำนักงานจัดหางานจังหวัดสงขลา เพื่อให้มีทักษะฝีมือเพิ่มขึ้น มีการส่งเสริมการรวมกลุ่ม และสมัครเป็นสมาชิกกลุ่มรับงานไปทำที่บ้าน จากเดิมที่กลุ่มมีสมาชิกเพียง 8 คน ตอนนี้เพิ่มขึ้นเป็น 30 กว่าคน ซึ่งในส่วนของกระทรวงแรงงาน ยังมีสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเข้ามาให้ความรู้เรื่องกฎหมายคุ้มครองแรงงาน สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานจะเข้ามาช่วยส่งเสริมพัฒนาทักษะฝีมือให้สมาชิกของกลุ่มมีทักษะฝีมือเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบันกลุ่มรับงานไปทำที่บ้าน “จักสานเชือกมัดฟางบ้านพรุ”อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลามีนางสมพงษ์ ผู้วิเศษ เป็นหัวหน้ากลุ่ม มีผลิตภัณฑ์หลายอย่าง ได้แก่ กระเป๋าสะพาย กระเป๋าถือ ตะกร้าใส่โครงเหล็ก ตะกร้าไม่มีโครงเหล็ก กระเป๋ารังไหม โคมไฟรังไหม ตาข่ายใส่ขวดน้ำ เป็นต้น สมาชิกกลุ่มฯ มีรายได้ต่อเดือนประมาณ 4,000 – 5,000 บาท

          นางเธียรรัตน์ กล่าวต่อว่า สมาชิกกลุ่มรับงานไปทำที่บ้าน “จักสานเชือกมัดฟางบ้านพรุ”ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งกระทรวงแรงงาน จะให้สำนักงานประกันสังคมจังหวัด เข้ามาดูแลในเรื่องการรับสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 เพื่อให้มีหลักประกันทางสังคมและเข้าถึงสิทธิประโยชน์เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล โดยท่าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี และท่านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่ากระทรวงแรงงาน ที่ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการประกอบอาชีพกลุ่มแรงงานนอกระบบให้เกิดการจ้างงานในระดับพื้นที่ เนื่องจากแรงงานนอกระบบเป็นแรงงานกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศและเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ ซึ่งขณะนี้ กระทรวงแรงงานได้เร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ เพื่อให้แรงงานนอกระบบ ได้รับการคุ้มครองและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2564 และอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว เพื่อให้แรงงานนอกระบบได้รับการดูแลมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป

—————————————

กองเผยแพร่และการประชาสัมพันธ์

30 สิงหาคม 2565

TOP