Skip to main content

องค์กรลูกจ้างค้านร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ….. ขอ รมว.เฮ้ง ช่วยด่วน

รายละเอียดเนื้อหา

          เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นผู้แทนรับมอบหนังสือจากนายพนัส ไทยล้วน ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย และนายชินโชติ แสงสังข์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย ที่ได้นำสมาชิกเข้ายื่นหนังสือและช่อดอกไม้ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานช่วยเหลือคัดค้านร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ…..ฉบับผ่านการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยมี นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองปลัดกระทรวงแรงงาน นางสาวบุปผาเรืองสุด รองปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย ณ บริเวณโถงด้านล่างอาคารกระทรวงแรงงาน

          นายสุรชัย กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และท่านรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งท่านกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้มีความห่วงใยพี่น้องผู้ใช้แรงงานทุกคนที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคง ซึ่งรัฐบาลและกระทรวงแรงงานได้ให้ความสำคัญในการปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องแรงงานให้ดียิ่งขึ้น ในวันนี้ท่านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้ผมและผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงานมาพบปะกับทุกท่าน

          นายสุรชัย ยังกล่าวถึงที่มาของร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ….ฉบับดังกล่าวว่า กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ตั้งคณะกรรมการไตรภาคีและจัดประชุมเพื่อยกร่างดังกล่าวตั้งแต่ปี 2558 ในสมัยนั้นมี พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติในการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม การปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ และสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ในการปฏิรูปการบริหารจัดการภาครัฐ เพื่อปรับปรุงระเบียบ กฎหมาย เพื่อเอื้อต่อการทำธุรกิจและการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ทำให้การรวมตัวของภาคแรงงานมีความสอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศและทำได้ง่ายขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ทำให้กระบวนการยื่นข้อเรียกร้องและระงับข้อพิพาทแรงงานมีความชัดเจน คำนึงถึงประโยชน์ของลูกจ้าง นายจ้าง และผู้ใช้บริการสาธารณะที่อาจได้รับผลกระทบ รวมทั้งองค์กรภาคแรงงานได้มีการประชุมหารือร่วมกันในเวทีที่เป็นทางการเพื่อเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรี หรือ ครม.ในการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์

          “ปัจจุบันร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้เลยขั้นตอนของกระทรวงแรงงานไปแล้ว ไม่สามารถนำกลับมาพิจารณาใหม่ได้ต้องไปดำเนินการในชั้นกรรมาธิการวิสามัญ นายพนัสจึงเสนอขอตัวแทนลูกจ้าง 2 คน คือ ตนและนายชินโชติ เป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญในสัดส่วนของรัฐบาล เพื่อเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานพิจารณา เนื่องจากเป็นผู้ที่มีความรู้และมีประสบการณ์ด้านแรงงานสัมพันธ์เป็นอย่างดี” นายสุรชัย กล่าวตอนท้าย

++++++++++++++++++++++++++++

กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์

29 มิถุนายน 2565

TOP