เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ทำเนียบรัฐบาล นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นำคณะผู้บริหารของกระทรวงแรงงาน และผู้เข้ารับการฝึกอบรมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เข้าพบ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อประชาสัมพันธ์การขับเคลื่อนโครงการ 1 จังหวัด 1 โครงการ 1 หลักสูตรโดยมี นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน คุณญาณกร จันทหาร ตัวแทนจากวิสาหกิจชุมชนน้า&หลาน ฟาร์ม จังหวัดขอนแก่น และคุณจิราภา สัมมา
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีนโยบายพัฒนาศักยภาพกำลังแรงงานทุกกลุ่มผ่านกลไกประชารัฐ และมีความห่วงใยเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน และแรงงานว่างงานเป็นจำนวนมาก จึงมุ่งส่งเสริมการมีงานทำให้แก่แรงงานที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวให้มีอาชีพ มีรายได้ และมีความเป็นอยู่ที่ดี ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน ภายใต้การกำกับดูแลของ พลเอก ประวิตรวงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำให้กระทรวงแรงงาน เตรียมความพร้อม Upskill และReskill ให้แก่แรงงานโดยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพทางด้านเกษตร เพื่อแก้ไขปัญหาการว่างงาน และปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน
นายสุชาติ กล่าวต่อไปว่า ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้จัดทำโครงการ 1 จังหวัด 1 โครงการ 1 หลักสูตร ให้แก่กลุ่มแรงงานที่ได้รับผลกระทบโควิด – 19 ในหลักสูตร ผู้ประกอบการมืออาชีพด้านเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farmer) เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรด้วยเทคโนโลยี มีเป้าหมายดำเนินการ Upskill และ Reskill ให้แก่แรงงานภาคเกษตร กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ผู้ว่างงาน ในการใช้เทคโนโลยี เพิ่มโอกาสสร้างรายได้ให้แก่แรงงาน และชุมชน ตั้งเป้าฝึกทั่วประเทศกว่า 1,500 คน รวมทั้งพัฒนาหลักสูตรการฝึกอาชีพเสริมมุ่งเน้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสมโดยชุมชนเพื่อชุมชนอย่างยั่งยืน พัฒนาและยกระดับทักษะแรงงานนอกระบบ ให้เป็นเกษตรอัจฉริยะ Smart Farmer โดยออกแบบหลักสูตรพัฒนาทักษะให้ครบวงจรต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ทั้งการผลิต การบริหารจัดการ และการตลาด พัฒนาศูนย์เรียนรู้เพื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้าน IoT เพื่อการเกษตร จำนวน 25 แห่ง ทั่วประเทศ โดยถอดบทเรียนความสำเร็จของผู้ประกอบกิจการใช้การตลาดนำการผลิต คัดเลือกชนิดพืชกลุ่มพรีเมี่ยมสู่กระบวนการฝึก และต่อยอดการตลาด จำหน่ายให้แก่ผู้ค้าปลีกขนาดใหญ่และตลาดท้องถิ่น ในรูปแบบ Online Onsite และ On Market พัฒนาทักษะความรู้ความสามารถทางด้านช่าง อาทิการออกแบบสร้างโรงเรือนด้วยวัสดุชุมชน และการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการปลูกพืชเพื่อให้สามารถลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลิตภาพ และเชื่อมโยงตลาด ต่อยอดการประกอบอาชีพ ยกระดับรายได้และเศรษฐกิจชุมชน
ในวันนี้ ได้นำเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จจากการดำเนินโครงการมาพบท่านนายกรัฐมนตรีเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการดังกล่าว จำนวน 2 คน ประกอบด้วย คุณญาณกร จันทหาร ตัวแทนจากวิสาหกิจชุมชนน้า&หลาน ฟาร์ม จังหวัดขอนแก่น และคุณจิราภา สัมมา ผู้ประสบความสำเร็จจากการฝึกอบรมจากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 6 ขอนแก่น กรมพัฒนาฝีมือแรงงานและได้นำเทคโนโลยี IoT ไปใช้ในการประกอบอาชีพปลูกผักออแกนิค โครงการนี้ได้ส่งเสริมและให้โอกาสแก่แรงงานคืนถิ่นที่กลับภูมิลำเนา และเกษตรกรที่ประกอบอาชีพเดิมอยู่แล้ว เข้าร่วมโครงการเข้ารับการฝึกอบรมซึ่งเป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นการให้ความรู้ และทักษะในการใช้เทคโนโลยีชั้นสูงเพื่อการเกษตร ต่อยอดความรู้ทักษะด้านไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ การออกแบบ การติดตั้งอุปกรณ์ การจัดเก็บข้อมูลเพื่อนำไปวิเคราะห์ตามหลักการและทฤษฎีทางการเกษตร เพื่อให้กระบวนการผลิตเหมาะสม ลดต้นทุน เพิ่มผลิตภาพ และพัฒนาเป็น Smart Farmer
ทั้งนี้ การประกอบกิจการของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนดังกล่าว ได้รับการบูรณาการและการสนับสนุนจากกระทรวงแรงงาน ภาครัฐ และเครือข่ายในท้องถิ่น เข้ามาให้การสนับสนุนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและการตลาด ซึ่งเป็นการประกอบอาชีพเกษตรอินทรีย์วิถีสุขภาพ มีตลาดรองรับผลผลิตตลอดฤดูกาล สามารถดำเนินการมาได้อย่างมั่นคง ผลผลิตจากฟาร์มส่วนใหญ่เป็นผักสลัดชนิดต่างๆ เช่น กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค กรีนคอส แก้ว บัตเตอร์เฮด ฟิเลย์ เรดปัตตาเวีย กรีนปัตตาเวีย เบบี้คอส เป็นต้น ซึ่งสามารถเพาะปลูกได้ตลอดปีสามารถสร้างงาน สร้างรายได้เดือนละกว่า 25,000 บาท ช่วยเพิ่มรายได้จากการเพาะปลูกแบบเดิม 30-50% สร้างความมั่นคงทางอาหาร สร้างงาน สร้างรายได้อย่างยั่งยืน
+++++++++++++++++++
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
22 กุมภาพันธ์ 2565