นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) พร้อมด้วย นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองปลัดกระทรวงแรงงาน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน และคณะ ลงพื้นที่เยี่ยมและมอบอาหารแห้งให้กำลังใจแก่แรงงานไทยที่มาเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์ ณ แคมป์คนงานฟาร์มสตอเบอรี่ Artic กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ซึ่งฟาร์มแห่งนี้เป็นฟาร์มตัวอย่างที่มีการจ้างแรงงานไทยกว่า 400 คน มาทำงานในรูปแบบการจ้างงานตามฤดูกาล (Seasonal Workers) ซึ่งหลังจากคนงานเก็บสตอเบอรี่ในฟาร์มเสร็จแล้วสามารถเก็บผลไม้ป่าเป็นอาชีพเสริมได้วันละ 100 กิโลกรัม เอามาขายกิโลกรัมละ 1.5 -1.6 ยูโร มีรายได้วันละไม่ต่ำกว่า 5,000 – 6,000 บาท จากการพูดคุยกับแรงงานไทยที่มาเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์ครั้งนี้ ทำให้ทราบความเป็นอยู่ของคนงานไทย เนื่องจากอาชีพเก็บผลไม้ป่ายังไม่ได้เป็นแรงงานในระบบ ทำให้คนงานยังขาดสวัสดิการหลายอย่าง โดยเฉพาะทางด้านสาธารณสุข ที่บางครั้งต้องมีโรคจากการถูกยุง เห็บ แมลงในป่ากัด เพราะมีข้อห้ามไม่ให้ใช้ยากันยุง หรือยากันแมลง
นางเธียรรัตน์ กล่าวว่า กระทรวงแรงงานจึงพยายามในการหาทางออกให้กับแรงงานเหล่านี้ เพื่อให้นายจ้างได้จัดสวัสดิการ สิทธิประโยชน์ และได้รับการดูแลเรื่องมาตรการสาธารณสุขที่รัฐบาลฟินแลนด์กำหนด โดยได้ขอความร่วมมือให้ฟินแลนด์พิจารณาให้บริษัทผู้รับซื้อผลไม้ป่า แต่งตั้งหรือมอบหมายให้ภาคเอกชน ซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในประเทศไทย เป็นผู้ประสานงานและดำเนินการพาลูกจ้างของตนเองไปเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์ ซึ่งจะทำให้สอดคล้องกับบทบัญญัติข้อกฎหมายของประเทศไทยในการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ
“การเดินทางมาเยี่ยมแรงงานไทยในประเทศฟินแลนด์ครั้งนี้ เพื่อต้องการพบปะพูดคุยกับแรงงานไทย เนื่องจากแรงงานไทยแต่ละคนต้องจากบ้านมาทำงานในต่างแดน ซึ่งได้สอบถามสารทุกข์สุกดิบ พร้อมส่งกำลังใจและความห่วงใยจากรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลได้มีความห่วงใยแรงงานไทยทุกคนที่มาทำงานในต่างประเทศ เนื่องจากแต่ละคนเป็นเสาหลักของครอบครัวตั้งใจมาทำงานหาเงินส่งกลับเลี้ยงครอบครัวที่ประเทศไทย ซึ่งแต่ละปีมีรายได้ส่งกลับเพื่อพัฒนาประเทศเป็นจำนวนมาก ในวันนี้ดิฉันพร้อมด้วย ท่านรองปลัดกระทรวงแรงงาน ท่านอธิบดีกรมการจัดหางาน และคณะ ลงพื้นที่เยี่ยมสอบถามพูดคุยให้กำลังใจกับแรงงานทุกท่านด้วยตัวเอง”นางเธียรรัตน์ กล่าวตอนท้าย
ทั้งนี้ แรงงานไทยที่จะมาเก็บผลไม้ป่าเป็นที่ชื่นชมของนายจ้างในฟินแลนด์ เนื่องจากแรงงานไทยเหล่านี้มีความเชี่ยวชาญจากการเป็นเกษตรกร ทำนา เพราะต้องใช้ทักษะในการก้ม และเป็นแรงงานที่มีฝีมือ เช่นมีการดัดแปลงที่เก็บผลไม้ ให้เหมาะกับสภาพร่างกายและสภาพพื้นที่ ทำให้สามารถเก็บผลไม้ป่าได้เป็นจำนวนมาก ทำให้กระทรวงแรงงานต้องการผลักดันให้เป็นแรงงานเหล่านี้ได้มาอยู่ในระบบ เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายและมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นด้วย
+++++++++++
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
6 กันยายน 2565