เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2565 นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) ร่วมคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา ศึกษาดูงานและรับฟังบรรยายสรุปในประเด็นแผนการดำเนินงานและแนวทางการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน รวมทั้ง ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานที่ผ่านมาและแนวทางการแก้ไข โดยมี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา เป็นประธาน และมีตัวแทนผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ หัวหน้าส่วนราชการและเจ้าหน้าที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดเชียงรายร่วมต้อนรับ ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติเชียงแสน ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ ธุรกิจบางประเภทเกิดการชะลอตัว แต่กลับมีธุรกิจหนึ่งที่สามารถคงสภาพคล่องของกิจการได้อย่างมั่นคง และมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นไปได้อีก นั่นคือ ธุรกิจด้านโลจิสติกส์และการขนส่ง ซึ่งเป็นธุรกิจที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในยุคปัจจุบันได้ ซึ่งจากการพบปะผู้ประกอบการภาคเอกชน โดยพบว่า ปัจจุบันภาคเอกชนยังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานด้านโลจิสติกส์ เนื่องจากเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลงแล้วทำให้วิถีชีวิตของคนไทยเปลี่ยนแปลงไป และเกิดอาชีพใหม่ๆ ตามมาหลายอาชีพ จึงต้องนำเทคโนโลยีชั้นสูง (High technology) เข้ามาใช้ และเป็นพลังงานที่สะอาดบริสุทธิ์ ซึ่งหลักสูตรการฝึกอบรมจะต้องสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ของนายจ้างและสถานประกอบการอีกด้วย
พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวต่อว่า ในวันนี้ผมได้นำคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา ลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย เนื่องจากเป็นจังหวัดที่รายได้ส่วนใหญ่มาจากการท่องเที่ยว การค้าและการบริการ รวมทั้งมีเป้าหมายการพัฒนาไปสู่เมืองการค้าการลงทุน จึงได้มาเยี่ยมชมการฝึกอบรมฝีมือแรงงานด้านขนส่งโลจิสติกส์ หลักสูตรการฝึกขับรถลากจูง การจัดการคลังสินค้า เพื่อเตรียมกำลังแรงงานให้สามารถรองรับการเชื่อมโยงโลจิสติกส์ระหว่างประเทศในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Subregion : GMS) ของสมาชิกอนุภูมิภาค 6 ประเทศ ได้แก่ สหภาพเมียนมา ไทย สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีนตอนใต้ (มณฑลยูนนาน) ซึ่งสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติเชียงแสน จังหวัดเชียงรายแห่งนี้ มีภารกิจหลักในการฝึกอบรมฝีมือโดยใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้แก่แรงงานและผู้ประกอบการ เสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจในระดับนานาชาติ เพื่อพัฒนาฝีมือและศักยภาพแรงงานและผู้ประกอบการ ทดสอบและรับรองฝีมือแรงงานตามมาตรฐานสากลและมาตรฐานนานาชาติ รวมทั้งสร้างเครือข่ายแรงงานนานาชาติและเป็นศูนย์กลางการพัฒนาฝีมือแรงงานระหว่างหน่วยงานฝึกอบรมในอนุภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
++++++++++
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
27 เมษายน 2565