Skip to main content

ILO มีมติยุติการพิจารณาข้อร้องเรียนการแก้ไขปัญหาแรงงานในภาคประมง หลังรับทราบความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาของไทย

รายละเอียดเนื้อหา

            ILO เห็นชอบให้มีมติยุติการพิจารณาข้อร้องเรียนจาก ITUC และ ITF หลังรับทราบความก้าวหน้าของประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาบังคับใช้แรงงานในภาคประมง พร้อมสนับสนุนให้รัฐบาลไทยดำเนินมาตรการเชิงรุกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการในการคุ้มครองแรงงานต่างด้าว ซึ่งรัฐบาลไทยพร้อมมีความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับ ILO และดำเนินการตามที่ ILO เสนอแนะ

             นายสุทธิ สุโกศล ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะหัวหน้าชุดปฏิบัติการข่าวสารกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะประศาสน์การ สมัยที่ 329 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ระหว่างวันที่ 13 – 25 มีนาคม 2560 ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ คณะประศาสน์การของ ILO ได้มีมติเห็นชอบให้ยุติการพิจารณาเกี่ยวกับข้อร้องเรียนซึ่งสมาพันธ์สหภาพแรงงานระหว่างประเทศ (ITUC) และสหพันธ์คนงานขนส่งระหว่างประเทศ (ITF) ได้ร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาแรงงานในภาคประมงของไทยโดยใช้ข้อมูลเดิมตั้งแต่ปี 2558 โดย ILO ได้รับทราบความก้าวหน้าของประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาบังคับใช้แรงงานในภาคประมง และให้รายงานความคืบหน้าเรื่องดังกล่าวตามวงรอบปกติ อันแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของ ILO ต่อความสำเร็จของรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เนื่องจากโดยปกติสำหรับกรณีที่ทาง ILO ยังไม่เห็นว่ามีความคืบหน้าเพียงพอจะกำหนดให้ต้องมีการติดตามในการประชุมครั้งต่อ ๆ ไป นอกจากนั้น ILO ยังมีท่าทีพร้อมสนับสนุนให้รัฐบาลไทยดำเนินมาตรการเชิงรุกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการในการคุ้มครองแรงงานต่างด้าว ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้มีความพยายามอย่างเข้มข้นที่จะขจัดปัญหาแรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ในภาคประมง โดยมุ่งมั่นยกระดับสภาพการจ้าง เพิ่มความเข้มแข็งของระบบบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวเพื่อกำจัดช่องว่างทางกฎหมาย โดยมีการแก้ไขกฎหมายหลายฉบับ โดยเฉพาะการออกพระราชกำหนดการนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างภายในประเทศ พ.ศ. 2559 เพื่อขจัดขบวนการสาย/นายหน้าเถื่อน และควบคุมบริษัทผู้รับอนุญาตจัดหางานให้คนต่างด้าว ตลอดจนเพิ่มมาตรการลงโทษ การตรวจสอบและติดตามกระบวนการจัดหาแรงงาน และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาทำงานในประเทศไทย


            นายสุทธิฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ปฏิบัติตามอนุสัญญาฉบับที่ 29 ว่าด้วยแรงงานบังคับ โดยรัฐบาลไทยได้เพิ่มความเข้มข้นในกระบวนการตรวจแรงงาน โดยมีการจัดจ้างผู้ประสานงานด้านภาษาเพื่อร่วมสุ่มตรวจแรงงานทั้งบนบกและในทะเล  เพื่อช่วยเหลือในกระบวนการระบุตัวเหยื่อและต่อต้านค้ามนุษย์ และยังมีความพยายามที่จะเพิ่มจำนวนพนักงานตรวจแรงงาน โดยคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการให้เพิ่มอัตรากำลังพนักงานตรวจแรงงาน จำนวน 186 อัตรา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 นอกจากนั้นคณะประศาสน์การของ ILO ยังรับทราบความพยายามของรัฐบาลไทยในการทำงานร่วมกับรัฐบาลของประเทศต้นทางในการปรับปรุงสภาพการจ้าง/สภาพการทำงานในภาคประมง กระบวนการร้องเรียน รวมถึงการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ โดยอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยได้ชั่วคราวเพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกาย และจิตใจ รวมทั้งการฝึกอาชีพและทักษะ การอนุญาตให้ผู้เสียหายสามารถออกไปทำงานนอกบ้านพักเมื่อมีความพร้อม และการดำเนินคดีเพื่อเรียกร้องค่าสินไหมให้กับผู้เสียหายจากภาครัฐ และจากผู้กระทำผิดฐานค้ามนุษย์


            ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ มีการพัฒนากรอบกฎหมาย เพิ่มโทษในกรณีพบการใช้แรงงานเด็ก ออกกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเลเป็นการเฉพาะ แก้ไขกฎหมายปราบปรามการค้ามนุษย์เพิ่มนิยามการยึดเอกสารและการใช้หนี้เป็นสิ่งผูกมัดเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบให้เป็นความผิดฐานค้ามนุษย์ รวมทั้งยังพัฒนากระบวนการบังคับใช้กฎหมายรวมไปถึงกระบวนการร้องเรียน ตลอดจนส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการประกาศใช้แนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดีสำหรับสถานประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้นในอุตสาหกรรมแปรรูปและอาหารทะเลในประเทศไทย (GLP) โดยเน้นการขจัดการใช้แรงงานบังคับ การใช้แรงงานเด็ก เสรีภาพในการสมาคม การเจรจาต่อรองร่วม และความร่วมมือในสถานประกอบกิจการ การไม่เลือกปฏิบัติ ค่าจ้าง ชั่วโมงการทำงาน ค่าชดเชย ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานและสวัสดิการ


——————————————

กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ / 1 เมษายน 2560

 

TOP